โรคไข้เลือดออก
แพทย์ปัจจุบันตระหนักดีว่า
โรคไข้เลือดออกเกิดจากไวรัส dengue และผู้ป่วยอาจแสดงอาการของโรคได้สามแบบ
คือ แบบแรก ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ มีน้ำมูกไหล เจ็บคอ
ปวดกระดูก และที่ผิวหนังมีผื่นขึ้น
แต่ในที่สุดอาการเหล่านี้ก็จะหายเมื่อผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีได้ยา สำหรับแบบที่ 2 มักเกิดในหนุ่มสาวและผู้ใหญ่
โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง คือ มีอุณหภูมิร่างกายสูงประมาณ 39-41 องศาเซลเซียส
เป็นเวลานาน 4-5 วัน ใบหน้าแดง ตัวแดง รู้สึกปวดเมื่อยตามตัว
กระวนกระวาย ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดกระดูก เจ็บคอ รู้สึกเพลีย มีอาการซึม เบื่ออาหาร
ปัสสาวะน้อย ปวดท้อง คลื่นไส้ หรือมีเลือดออกตามไรฟัน
จากนั้นไข้ก็จะลดเป็นเวลาสองวัน แล้วไข้ก็จะขึ้นสูงอีก 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยจะมีผื่นหรือจุดเลือด
(petechiae) ตามผิวหนัง
และจุดจะเริ่มปรากฏที่หลังมือหรือหลังเท้าก่อน จากนั้นจะแผ่บริเวณไปที่แขน ขา
ลำตัว และคอ ตามปรกติผื่นอาจปรากฏนาน 2 ชั่วโมงหรือหลายวันก็ได้
ส่วนแบบที่ 3 นั้น ผู้ป่วยจะมีเลือดออกในลำไส้และกระเพาะ
หรืออาจอาเจียนเป็นเลือดสีกาแฟ และถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
นอกจากนี้จุดเลือดที่เกิดจากการตกเลือดใต้ผิวหนังก็จะปรากฏตามตัวทั่วร่าง เช่น
บนเพดานปาก กระพุ้งแก้ม และลิ้นไก่ ซึ่งเป็นผลจากการที่ไวรัส dengue ทำให้น้ำเหลืองซึมออกจากเส้นเลือด
จนเลือดที่ไหลเวียนในร่างกายมีปริมาณน้อยลงๆ
และถ้าการรั่วซึมนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีความดันเลือดต่ำ
จนช็อกได้
ขั้นตอนการรักษาเบื้องต้น แพทย์แนะนำว่า ทันทีที่รู้ตัวว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ให้ผู้ป่วยกินยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามกินยาแอสไพริน เพราะแอสไพรินนอกจากจะทำให้เลือดออกมากขึ้นแล้ว ยังสามารถทำให้กระเพาะอาการอักเสบได้ด้วย จากนั้นให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อชดเชยกับการสูญเสียเลือด แล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที หากแพทย์รักษาไม่ทัน 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยจะช็อกตาย เพราะอวัยวะของร่างกาย เช่น หัวใจ สมอง ไต ไม่มีเลือดหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ
สำหรับวิธีป้องกันการเป็นโรคไข้เลือดออก วิธีที่ดีคือ หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงลายกัดด้วยการนอนกางมุ้ง หรือติดมุ้งลวดที่หน้าต่างและประตูบ้าน กำจัดแหล่งน้ำขังนิ่งซึ่งเป็นที่ที่ยุงลายชอบวางไข่ หรือเลี้ยงปลาหางนกยูงเพื่อให้กินลูกน้ำของยุงลาย
ณ วันนี้โลกยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่จะรู้ว่า ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย แปซิฟิกตะวันตก อเมริกาใต้ ประมาณปีละ 5 แสนคน ล้มป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก สถิติการสำรวจขององค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในแต่ละปีตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมานี้ ได้เพิ่มขึ้นถึง 30 เท่าตัว ดังนั้นโรคไข้เลือดออกจึงรุนแรงพอๆ กับโรคเอดส์ วัณโรค และไวรัสตับอักเสบสำหรับผู้คนในทวีปอเมริกาใต้ และร้ายกาจพอๆ กับมาลาเรียสำหรับผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้แพทย์จะมีวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ มากมายก็ตาม แต่การพัฒนาสร้างวัคซีนสำหรับโรคไข้เลือดออกก็ดำเนินไปได้ช้า ทั้งนี้เพราะไวรัส dengue มี 4 ชนิด แต่ละชนิดต่างสามารถทำให้คนล้มป่วยได้ ถึงคนไข้จะได้รับการรักษาด้วยยาจนหายจากไวรัส dengue ชนิดแรกแล้ว แต่เมื่อถูกไวรัสชนิดที่ 2 คุกคาม เขาก็มีสิทธิ์ป่วยได้อีก โดยอาการป่วยครั้งหลังนี้จะรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า เพราะ antibody ที่ร่างกายใช้ในการต่อสู้กับไวรัสชนิดที่ 2 จะไม่สามารถฆ่าให้ไวรัสตายได้ ดังนั้นไวรัสที่ยังมีชีวตอยู่จะไปทำร้ายเซลล์ภูมิคุ้มกันจนมีผลทำให้คนไข้ป่วยหนักยิ่งขึ้นไปอีก และนี่คือเหตุผลที่ว่า เหตุใดเด็กจำนวนมากที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจึงตาย ทั้งนี้เพราะเด็กที่กินนมแม่ ร่างกายอาจมี antibody สำหรับไวรัสชนิดหนึ่ง แต่เมื่อเด็กคนนั้นรับไวรัสต่างชนิดเข้าไป อาการไข้เลือดออกจึงรุนแรงมาก เมื่อเหตุและผลเป็นเช่นนี้หนทางหนึ่งที่แพทย์ผู้กำลังมุ่งมั่นสร้างวัคซีนไข้เลือดออกคิดจะทำ คือ ผลิตวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัส dengue ทั้ง 4 ชนิดได้พร้อมกัน ไม่ใช่ป้องกันชนิดหนึ่งชนิดใดแต่เพียงชนิดเดียว
แต่ปัญหาจึงมีต่ออีกว่า แพทย์ไม่มีสัตว์ที่จะใช้ทดลองวัคซีน เพราะหนูก็ไม่เคยป่วยเป็นโรคชนิดนี้และลิงก็ไม่ตกเลือด ดังนั้นแพทย์จึงต้องนำวัคซีนไปทดลองใช้กับคนโดยตรง และเมื่อตัวแปรในการทำให้คนล้มป่วยมีมากมาย ความสำเร็จในการผลิตวัคซีนโรคไข้เลือดออกจึงต้องใช้เวลาอีกนาน
ส่วนวิธีต่อสู้อีกหนทางหนึ่ง คือ เปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของยุงลายมิให้มันเป็นพาหะนำเชื้อโรคไข้เลือดออก แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มั่นใจว่า ยุงที่ได้รับการตัดต่อยีนจะมีชีวิตอยู่ได้นานพอที่จะแพร่พันธุ์ เพราะถ้ายุงตัวนั้นตายก่อน ปัญหาก็ไม่จบไม่สิ้น เพราะยุงที่เหลือมีมากนับอสงไขยตัว ดังนั้นวิธีที่ง่ายและมีราคาถูก คือ พยายามอย่าให้ยุงใดๆ กัด และทันทีที่รู้สึกว่าเป็นไข้ควรรีบไปหาหมอ
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมานี้ สถาบัน Institute of Medical Research (IMR) แห่งมาเลเซีย ได้ทดลองปล่อยยุงลาย 6,000 ตัวที่ได้รับการตัดต่อยีน ในบริเวณที่ไร้ผู้คนทางตอนกลางของแคว้นปะหัง เพื่อศึกษาลักษณะการแยกย้ายของยุงไปในพื้นที่ต่างๆ และดูอายุชีวิตของยุงลายเหล่านั้นด้วย
การทดลองนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2554 และคณะผู้ทดลองกำลังวิเคราะห์ผลที่ได้อยู่ ท่ามกลางเสียงต่อต้าน ที่ไม่เห็นด้วยจากบรรดานักนิเวศวิทยา ซึ่งให้เหตุผลว่า นักวิทยาศาสตร์ยังมีความรู้เกี่ยวกับยุงลายไม่เพียงพอ และไม่รู้เลยว่ายุงแฟรงเกนสไตน์เหล่านี้มีอิทธิพลอย่างไรหรือเพียงใดกับยุงธรรมดา และถ้ามีปฏิสัมพันธ์กัน ยุงธรรมดาจะกลายพันธุ์หรือไม่
ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็อ้างว่า การทดลองนี้ไม่มีพิษ ไม่มีภัยใดๆ และยุ่งเหล่านี้ก็ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงยีนจนทำให้มันมีชีวิตได้ไม่เกิน 3 วัน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการทดลองนี้ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีวิธีกำจัดยุงลายในอนาคต
ข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000052736
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น